top of page
Screenshot_2021-10-08-16-58-36-62-removebg-preview.png

ดนตรีไม่เคยที่จะหยุดพัก
 

            มีคนกล่าวว่า “ดนตรีจะหายจากโลกนี้ไป ก็ต่อเมื่อไม่มีมนุษย์อยู่บนโลกนี้” เมื่อดนตรีกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงยามค่ำคืน ดนตรีอยู่คู่กับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดนตรีเปรียบดังศิลปะแขนงหนึ่ง เป็นเสียงที่เกิดจากธรรมชาติก็จริง แต่ต้องอาศัยการฝึกฝน ทักษะ และการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางชีวิต จึงจะเกิดเป็นความชำนาญขึ้นมาได้
 

เวลายังคงเดินต่อไปเรื่อย ๆ

            เราไม่สามารถควบคุมเวลาให้หยุดหรือย้อนกลับไปได้ ไม่มีใครกำหนดได้ว่า เวลาเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะสิ้นสุดลงตรงไหน มนุษย์เคยรู้จักคำว่า “เวลา” ผ่านทางการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและการโคจรของดวงดาว ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญทางเทคโนโลยี มนุษย์จึงได้สร้างนาฬิกาเพื่อใช้ในการกำหนดเวลา อย่างไรก็ตามความต่อเนื่องของเวลา ทำให้เราสามารถแบ่งช่วงชีวิตออกมาได้เป็น อดีต ปัจจุบัน และอนาคต และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาจากคำว่า “เวลา”

Untitled-3_edited.png
CONCEPT
โลโก้ใหม่ 1.png
Screenshot_2021-10-08-15-39-55-93-removebg-preview.png

Introduction

ดนตรีกับเวลา

            ดนตรีเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ความหวาดกลัวจากภัยธรรมชาติและสิ่งที่มองไม่เห็น ซึ่งมนุษย์ในยุคนั้นมีความเชื่อว่า เกิดขึ้นจากเทพเจ้า นอกจากนั้นมนุษย์ยังมีความเชื่ออีกว่า ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณ การหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ต่างเกิดมาจากเทพเจ้าเช่นเดียวกัน มนุษย์จึงบูชาหรือสักการะเทพเจ้าโดยการเต้น ร้องเพลง หรือวิงวอนขอในสิ่งที่ตนเองปรารถนา ถือว่าดนตรีในยุคแรก ๆ นั้นเกิดขึ้นเพื่อให้มนุษย์เกิดความรู้สีกสบายใจหรือปลอดภัย

            ดนตรีมีวิวัฒนาการต่อมาเรื่อย ๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ค่อย ๆ สร้างและพัฒนาเครื่องดนตรีขึ้นมา จากเสียงเพลงเกิดเป็นโน้ต จากดนตรีที่ใช้เพียงการบวงสรวงหรือใช้ทางศาสนา เปลี่ยนมาเป็นดนตรีที่มีจังหวะและสามารถกำหนดความหนัก - เบาได้ กล่าวได้ว่า ดนตรีมีความสัมพันธ์กับเวลา เมื่อเวลาไม่เคยที่จะหยุดเดิน ดนตรีก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กับเวลาเช่นเดียวกัน

เครื่องดนตรีเพียงน้อยชิ้นแต่ความไพเราะของดนตรีไม่เคยมีขีดจำกัด

            เมื่อมนุษย์เริ่มมองดนตรีไม่ใช่เพียงแค่เพลงทางศาสนาเท่านั้น มีการใช้เครื่องดนตรีประชันกับเสียงร้องมากขึ้น ในช่วงของยุคบาโรก (Baroque Period) การบันทึกตัวโน้ตมีการพัฒนาจนเป็นลักษณะของตัวโน้ตในปัจจุบัน คือ การใช้บรรทัดห้าเส้น เครื่องดนตรีในยุคนั้นจะมีกลุ่มเครื่องสาย (String Instruments) ออร์แกน (Organ Instrument) และเครื่องลมไม้ (Wood Wind Instruments) รูปแบบของเพลงที่มีการพัฒนาจนมีแบบแผนที่แน่นอน คือ Fugue

            Johann Sebastian Bach (J.S.Bach) เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ผลงานต่าง ๆ ของ Bach แต่งเพื่อใช้กับเครื่องดนตรีประเภทออร์แกน อาทิ เช่น ฮาร์ปซิคอร์ด (Harpsichord) ต่อมาได้พัฒนาเพื่อใช้เล่นกับเปียโนได้

        ในการนำเสนอเพลงแรก คือ Prelude and Fugue in C minor, BWV 871  ของ Johann Sebastian Bach เป็นผลงานเพลงที่แต่งขึ้นในยุคบาโรก J.S.Bach เป็นนักออร์แกนและคลาเวียร์ (Clavier) ที่มีฝีมือยอดเยี่ยมมาก เขาเป็นคนแรกที่คิดค้นวิธีการเล่นคลาเวียร์โดยการใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วก้อยเพิ่มเข้าไป ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ในการเล่นคลาเวียร์ในยุคต่อ ๆ มา

Harpsichord.jpg

Harpsichord

Clavichord.png

Clavichord

ยุคที่สงครามไม่ได้มีอำนาจเหนือดนตรี

           เมื่อสงครามยุโรปเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไม่ว่าจะเป็นการประกาศอิสรภาพของอเมริกันในปี ค.ศ.1776 การปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1789 และสงครามนโปเลียนในยุโรป ปี ค.ศ.1814 ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ในทางปรัชญาเรียกว่า “ยุคแห่งเหตุผล” ( Age of Reason )

             สงคราม คือ ความต้องการอิสรภาพ ดนตรีในยุคคลาสสิก (Classic Period) ก็เช่นกัน เมื่อดนตรีในยุคบาโรกมีรูปพรรณ (Texture) ที่ยุ่งยากซับซ้อน ต่างจากดนตรีในยุคคลาสิกที่มีลักษณะเฉพาะคือ โครงสร้าง (Structure) ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คีตลักษณ์หรือรูปแบบ (Form) ที่มีโครงสร้างที่ชัดเจนแน่นอน และยึดถือปฏิบัติมาเป็นธรรมเนียมนิยมอย่างเคร่งครัดคือ Sona form

               ในการนำเสนอผลงานเพลงที่สองของผม คือ Piano Sonata in C major, Hob XVI:35 ของ Franz Joseph Haydn ที่ใช้รูปแบบของ Sonata form ที่ตายตัว ดนตรีในรูปแบบของ Haydn จะดูง่าย มีเสน่ห์ มักมีรูปแบบที่เป็นตลกหรือมีความเป็นแฟนตาซีแฝงอยู่

1.jpg

ดนตรีไม่จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว

            ในยุคคลาสสิกที่กล่าวได้ว่า เป็นยุคที่ดนตรีมีกฎเกณฑ์และแบบแผนเป็นอย่างมาก และต้องอยู่ในขอบเขตที่นักประพันธ์ในยุคนี้ยอมรับได้ ไม่มีการแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้ประพันธ์ไว้ในบทเพลง ในช่วงยุคคลาสสิก ตอนต้นถึงตอนกลาง ดนตรีจึงเน้นไปที่รูปแบบหรือแบบแผนที่ตายตัวเท่านั้น

            จนกระทั่ง มีนักประพันธ์ท่านหนึ่งที่หนีจากกฎเกณฑ์เหล่านั้น เพลงของเขาบางเพลงเรียกว่า โด่งดังจนถึงขีดสุดและอีกหลายเพลงที่คนในยุคนั้นไม่สามารถรับได้เพราะมันแหวกแนวจนเกินไป

            เพลงที่สามที่ผมจะเล่น คือ Sonata No.5 in C minor Op.10 No.1 ของ Ludwig Van Beethoven เป็น Sonata ในยุคแรกที่ Beethoven แต่งในคีย์ C minor แตกต่างจาก Sonata form ดั้งเดิม ที่เริ่มต้นด้วย คีย์ C major ความมั่นใจในตัวเองของเขา ทำให้เพลงในยุคคลาสสิกตอนปลายมีชิวิตชีวาและมีอารมณ์ในเพลงมากยิ่งขึ้น

            Ludwig Van Beethoven เป็นนักประพันธ์ชาวเยอรมันที่มีความคิดนอกกรอบทางดนตรี การคิดนอกกรอบของ Beethoven ทำให้นักประพันธ์ท่านอื่น ๆ พยายามที่จะหลุดออกจากกรอบมาเช่นเดียวกัน จุดนี้เองจึงเป็นรอยต่อให้เกิดยุคโรแมนติกขึ้นมา

รูปภาพ1.jpg

เมื่อดนตรีอยู่นอกเหนือกรอบของกฎเกณฑ์

            ในยุคที่มีการล่าอาณานิคม เกิดสงครามการแย่งชิงพื้นที่ ความภาคภูมิใจในชาติบ้านเมืองของตนเองจึงสื่อออกมาทางงานศิลปะและดนตรี อาทิ เช่น Polonaise และ Mazurka ที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากเพลงพื้นเมืองของชาวโปแลนด์ เป็นเหตุให้นักดนตรีชาวโปแลนด์อย่าง Frederic Francois Chopin ชื่นชอบในการประพันธ์เพลงประเภทนี้เป็นอย่างมาก

            ดนตรีในยุคโรแมนติก (Romantic period) จะอยู่นอกเหนือจากกรอบเดิม ๆ ความหลากหลายของดนตรีมีมากขึ้น และมีรูปแบบที่ไม่ตายตัว ดนตรีในยุคนี้จึงสื่อออกมาทั้งความรัก ความโกรธ เกลียด ดีใจ เสียใจ และด้วยความที่เปียโนในยุคนั้น ได้มีการพัฒนามาให้สามารถเล่นเทคนิคที่สามารถส่งผ่านอารมณ์ออกมาได้ ทำให้บทเพลงในยุคโรแมนติดหลายต่อหลายเพลงได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน

          เมื่อพบเจอกับความรักและความผิดหวังหลายต่อหลายครั้ง Chopin นักประพันธ์ผู้มีความอ่อนไหวในความรักจึงถ่ายทอดบทเพลงนั้นออกมาได้อย่างเป็นอย่างดี เพลงที่สี่ของผม คือ Ballade No.1 in G minor Op.23 ของ Frederic Francois Chopin ด้วยความที่ Ballade เป็นเพลงที่มีลักษณะในการเล่าเรื่องราว จึงมีจังหวะที่ค่อนช้า และมี  Melody ที่มีความงดงาม โดยจะไล่เสียงตั้งแต่ดนตรีที่มีความแผ่วเบา ไปจนถึงโหยหวนดังแสดงถึงอารมณ์อันปวดร้าวของผู้ประพันธ์      กล่าวได้ว่าการประพันธ์ดนตรีของ Chopin เป็นการประพันธ์ดนตรีในยุคโรแมนติคที่แท้จริง ที่แสดงถึงอารมณ์ของผู้ประพันธ์ได้อย่างอิสระ

1.jpg

เปียโนในยุคโรแมนติก

เมื่อวัฒนธรรม เทคโนโลยี และดนตรี ก้าวไปพร้อมๆ กัน
 

           ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา มีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  ดนตรีก็เช่นเดียวกัน มีการพัฒนาเกิดขึ้นหลายรูปแบบ นักประพันธ์ต่างพยายามคิดที่จะทดลองสิ่งใหม่และค้นหาทฤษฎีที่แตกต่าง
 

            ดนตรีในศตวรรษที่ 20 (The Twentieth Century) หรือดนตรีในยุคสมัยใหม่ มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แม้ดนตรีจะมีรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม แต่ยังมีนักประพันธ์อีกหลายท่านที่นำเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นมาผสมผสานเข้ากับดนตรีในยุคใหม่ อาทิ เช่น Bela Bartok นักประพันธ์ชาวฮังการี ที่มีแนวการประพันธ์เพลงสมัยใหม่โดยใช้เพลงพื้นเมืองของฮังการีและรูมาเนีย หรือ Aram Khachaturian นักประพันธ์ชาวรัสเซีย ที่นำเอาเพลงพื้นเมืองของอาร์มีเนียมาใช้ในบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของเขา
 

            สำหรับเพลงสุดท้ายของผม คือ Toccata in E-flat minor ของ Aram Khachaturian นักประพันธ์ชาวรัสเซีย เชื้อสายอาร์มีเนีย ผู้ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการอันมากมายของตน Aram Khachaturian ได้ชื่อว่าเป็นนักประพันธ์ที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง บทประพันธ์ของเขาสะท้อนความเป็นตัวเองและการไม่หลงลืมในชนชาติ โดยการผสมผสานทำนองเพลงพื้นบ้านของอาร์มีเนียไว้ในผลงาน ทำให้งานชิ้นนี้ของเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นเพลงที่มีเสน่ห์และมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน

ดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติก (สิ่งประดิษฐ์ของลุยจิ รัสโซโล่ "Intonarumori")

2.jpg

เราจึงยอมรับได้ว่า ดนตรีเติบโตไปพร้อม ๆ กับเวลา
 

               นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักแค่ไหน โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเท่าไหร่ ดนตรีก็ยังอยู่คู่เราตลอดมา ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้น มีการถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการบอกต่อ ฝึกฝน และข้อมูลหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ การที่มนุษย์และดนตรีสามารถอยู่ร่วมกันได้จนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากว่าเรามีการปรับตัวให้ทันกับความเป็นจริง  ในโลกของเราอาจมีความแตกต่างกันทั้งลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรม แต่ความแตกต่างเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่อย่างใด เพราะดนตรีเป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์ ถือได้ว่าดนตรีมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมโลกและดำเนินมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
 

         ในยุคที่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีบทบาทกับชีวิตมนุษย์ ดนตรีมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับ อย่างไรก็ตามโครงสร้างหลักของดนตรีก็ยังคงเป็น ระดับของเสียง ความดัง - ค่อยของเสียง ความสั้น - ยาวของโน้ต และสีสันของเสียง ซึ่งยังคงเป็นหัวใจสำคัญของดนตรี 
 

          ดนตรีไม่เคยหยุดนิ่งและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในทุกยุค ทุกสมัย นักประพันธ์ในแต่ละยุคนำมาความรู้ทางดนตรีที่ได้ฝึกฝนมาพัฒนาต่อยอดทางดนตรีให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ สร้างท่วงทำนองและเสียงต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น ดนตรีเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่ทำให้เกิดการแสดงออกและบ่งบอกความเป็นตัวเรา อีกทั้งดนตรียังเป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า ที่มีจุดร่วมตรงกลาง ช่วยหลอมรวมผู้คนที่มีความแตกต่างเข้าไว้ด้วยกัน

Trio.jpg

Trio

Shmphony.jpg

Shmphony orchestra

String Quartet.png

String Quartet

Jazz.jpg

Jazz

โลโก้ใหม่ 1.png

Follow us on:

  • Facebook
  • YouTube
  • Instagram
  • ติ๊กต๊อก
  • Twitter
  • SoundCloud

© 2021 by Joker_Chinatip. Proudly created with Wix.com

bottom of page