
Research

งานวิจัย / Case study ที่เกี่ยวข้อง

ผมขอยกตัวอย่างบทความและงานวิจัย จำนวน 4 หัวข้อ ที่เป็นตัวจุดประกายให้ผมสร้างงาน Recital ที่เชื่อมโยงเวลากับดนตรีเข้าด้วยกัน ค้นหาในความแตกต่างและความสัมพันธ์กันของดนตรีในแต่ละยุค
มนุษย์เป็นสัตว์ดนตรีจริงไหม ดนตรีและเครื่องดนตรีมาจากไหน ย้อนประวัติศาสตร์หาต้นตอเสียงเพลงที่จรรโลงมนุษยชาติมาเนิ่นนาน ของ โตมร ศุขปรีชา

“เวลาฟังดนตรี คุณเคยสงสัยไหมว่า ใครเป็นคนคิดประดิษฐ์ ‘เครื่องดนตรี’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเวลาฟังเสียงร้องเพลง คุณเคยสงสัยไหมว่า คนโบราณที่ไม่รู้จักทฤษฎีดนตรีมาก่อน เขาร้องเพลงแบบไหนกัน เสียงร้องเพลงมาจากเสียงคำรามได้ไหม หรือเป็นเสียงเกี้ยวพาน แล้วทำไม แมวหมากาไก่ถึงไม่รู้จักร้องออกมาเป็นเพลง หรือแม้กระทั่งนกกางเขนบ้านที่เปล่งเสียงออกมาเหมือนการร้องเพลงนั้น มันกำลัง ‘ร้องเพลง’ ในความหมายเดียวกับมนุษย์หรือเปล่ามีปริศนาทางดนตรีมากมายที่ไม่มีคำตอบ หลายคำถามผุดเกิดขึ้นมาง่ายๆ ตั้งแต่เรายังเด็ก แต่เชื่อไหมว่ามันคือคำถามที่ตอบยากมากถึงมากที่สุด!”บทความดังกล่าวทำให้ผมย้อนคิดไปถึงช่วงเวลาในวัยเด็ก ผมเริ่มเรียนเปียโนด้วยความคิดที่ว่าเป็นงานอดิเรกและเล่นในยามว่างจากการเรียนเท่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ผมจึงเล่นเปียโนแค่ให้เป็นเพลง เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ความรู้สึกที่ผมมีต่อดนตรี ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เล่นแค่ความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว ดนตรีสร้างความประหลาดใจให้กับผม ผมแปลกใจที่ว่าเสียงมาจากไหน เวลาที่เรากดแป้นเปียโนแต่ละแป้น เราถึงได้ยินเสียงที่มีความแตกต่างกัน เสียงที่ออกมา ทำไมต้องเป็น โด เร มี ฟา ซอล ลา ที อาจเป็นความคิดในแบบเด็กๆ ก็จริง แต่ทำให้ผมสนใจที่จะศึกษาทางด้านดนตรีให้มากขึ้นกว่าเดิม และเป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทางสายดนตรีของผม

การศึกษาประวัติดนตรีตะวันตก การกำเนิดของโน้ต ของ คชสีห์ เจริญสุข ชานน สืบสม พงษ์พันธ์ เสาวดี

โดยทั่วไปแล้วผู้เรียนและผู้สอนวิชาดนตรีทั่วไปทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือแม้แต่ในระดับอุดมศึกษา มักจะกล่าวถึง โด เร มี ฟา ซอล ลา ทีกันเลยโดยไม่สนใจสืบเสาะหาถึงเรื่องราวและความเป็นมาของเสียงโน้ตดังกล่าว โดยจุดเริ่มต้นแห่งการกำเนิดเสียงโน้ต ตัวโน้ต และชื่อเรียกโน้ตนั้น ซึ่งจำเป็นจะต้องย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของดนตรีตะวันตกให้ลึกลงไปอีกจะพบว่าดนตรีที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่ทุกวันนี้ล้วนมีรากเหง้าและมีที่มาทางประวัติศาสตร์แทบทั้งสิ้นนับตั้งแต่การกำเนิดของเสียงที่เป็นจังหวะดนตรีขึ้นมาครั้งแรกบนโลกจากมนุษย์โดยการพยายามเลียนแบบเสียงของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การใช้วัตถุต่างๆ ที่หาได้มากระทบกันให้เกิดเสียงเป็นจังหวะตามความรู้สึกโดยบังเอิญดังจะเห็นได้จากชนเผ่าพื้นเมืองโบราณที่กระจายกันอยู่ทั่วทุกมุมโลกในปัจจุบันก็มักจะมีการใช้วัสดุอุปกรณ์ อาวุธ วัตถุศักดิ์สิทธิ์ เครื่องเคาะจังหวะ หรือแม้แต่การใช้อวัยวะในร่างกายมาสร้างกระสวนจังหวะในรูปแบบต่างๆ ประกอบการเปล่งเสียงหรือขับร้องทำนองเพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชนเผ่านั้นๆซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเครื่องดนตรีประเภทเครื่องกระทบถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีกลุ่มแรกที่มนุษย์สร้างขึ้นต่อมาเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ ก็ได้ถูกค้นพบโดยตามลำดับ เช่น การเป่ากระดูกสัตว์ที่มีรูกลวงทำให้เกิดเสียงโดยบังเอิญจนวิวัฒนาการมาเป็นแตรจากนั้นมนุษย์ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องดนตรีขึ้นมาหลายประเภทตามลักษณะของศิลปวัฒนธรรมและลักษณะค่านิยมของชนชาติต่างๆ จากนั้นจึงได้พยายามคิดค้นการแบ่งระดับเสียงและการบันทึกเสียงด้วยสัญลักษณ์ที่เรียกว่า “โน้ต” (Notation)
จากเดิมที่ผมเรียนดนตรีเพียงแค่ยามว่างเปลี่ยนเป็นการเรียนดนตรีอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการเรียนทางสายวิชาการของผม ผมเริ่มแกะโน้ตให้เป็น แทนที่จะเรียนตามโน้ตที่ครูแกะให้ ผมเปลี่ยนลักษณะการวางมือและการเล่นให้มีความเป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น หาครูสอนดนตรีที่มีความเป็นมืออาชีพ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ แต่ผมรู้ถึงจุดยืนในอนาคตของผมสำหรับบทความดังกล่าว ทำให้ผมนึกไปถึงช่วงเวลาที่เรียนวิชาปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ที่นอกจากจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาต่างๆ ที่สำคัญ ยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางดนตรีที่มีความเกี่ยวโยงกับนักปรัชญาในยุคต่างๆ ด้วย นักปรัชญาคนสำคัญคนหนึ่งที่เป็นผู้สร้างบันไดเสียง สำหรับผมแล้ว ผมเคยรู้จักนักปรัชญาท่านนี้ในฐานะของนักคณิตศาสตร์คนสำคัญที่สร้างทฤษฎีบทของสามเหลี่ยม พีทากอรัส นอกจากจะเป็นนักคณิตศาสตร์แล้วยังเป็นนักปรัชญาที่มีความสำคัญและเป็นผู้สร้างบันไดเสียงอีกด้วย

เพลงร้องยุคคลาสสิก : Classical Period Vocal Music ของ นัฏฐิกา สุนทรธนผล, วิภาต วิบูลย์ภาณุเวช

“ในยุคคลาสสิกนั้น ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 ถึงช่วงแรกของศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นช่วงของ การปฏิวัติฝรั่งเศส และนําไปสู่การประกาศอิสรภาพในอเมริกายุคนี้เป็นยุคที่เรียกว่า “ยุคแห่งเหตุผลและการรู้แจ้ง” (Age of Reason and Enlightenment) ซึ่งมีนักปรัชญาเกิดขึ้นมากมายทั้ง วอลแตร์ (Voltaire) รูซโซ (Rousseau) อดัม สมิท (Adam Smith) เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในศตวรรษที่ 18 นั้นทำให้ชนชั้นกลางเข้ามามี บทบาทสำคัญในด้านของการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมต่างๆ สำหรับทางด้านดนตรี ผู้มั่งคั่งร่ำรวยจะ กลายเป็นผู้อุปถัมภ์นักดนตรีและผู้ประพันธ์เพลง โดยการว่าจ้างให้ผู้ประพันธ์เพลงแต่งเพลงและให้นักดนตรี บรรเลงเพื่อความบันเทิงในกลุ่มของตน และมีการจัดการแสดงกิจกรรมทางด้านดนตรีอยู่เสมอไม่จะในงาน เลี้ยงหรือในงานสำคัญต่างๆ ดังนั้นกิจกรรมทางด้านดนตรีต่างๆที่เคยจัดการในราชสำนักให้เฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น จึงได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการแสดงดนตรีต่อสาธารณชนบุคคลทั่วไปโดยที่ไม่ต้องเสียค่าเข้าชม ส่งผลให้เกิดนักดนตรีมืออาชีพมากมายและกลุ่มผู้ฟังดนตรีที่มีกลุ่มใหญ่มากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ชนชั้นกลางนั้นหันมาให้ความสนใจต่อดนตรีเพื่อความบันเทิงมากขึ้นและมีการเรียนการสอนดนตรีเกิดขึ้นในชนชั้นกลาง จึงทำให้ชนชั้นกลางมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการดนตรีในยุคนี้”
จากเดิมที่รู้แต่ว่าการปฏิวัติในศตวรรษที่ 18 เป็นการปฏิวัติที่ยาวนานและมีความสูญเสียอย่างมากมาย หากแต่เมื่อเรามองไปยังอีกมุม เรากลับพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิวัติในครั้งนี้ เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม การที่ถูกกดขี่จากขุนนางชั้นสูง ทำให้ชนชั้นที่ต่ำกว่าเกิดการต่อต้าน ชนชั้นกลาง คือ ชนชั้นของกลุ่มพ่อค้าและผู้มีการศึกษาที่ใช้หลักของเหตุและผลมาเป็นข้อโต้แย้ง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทางสังคม ดังนั้น ในยุคดังกล่าว จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและอุตสาหกรรม นอกจากนั้นยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดนตรีเช่นเดียวกัน เมื่อนักดนตรีไม่จำเป็นต้องแต่งความต้องการและแบบแผนของชนชั้นสูงอีกต่อไป ก่อให้เกิดอิสระในทางดนตรี
สำหรับบทความดังกล่าวทำให้ผมมองถึงเหตุและผลที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดดนตรีในยุคปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของดนตรีในแต่ละยุค เกิดขึ้นจากความต้องการ การพัฒนาทางดนตรี เมื่อดนตรีในยุคบาโรกมีความยุ่งยากเกินไป จึงเกิดดนตรีในยุคคลาสสิกที่เป็นแบบแผนขึ้นมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักดนตรีต้องการอิสระในความคิดมากกว่าการเล่นดนตรีตามแบบแผนเท่านั้น เหตุและผลดังกล่าวจึงเปลี่ยนผันยุคของดนตรีเป็นยุคโรแมนติคและได้สร้างสรรค์นักดนตรีที่มีชื่อเสียงขึ้นมาอีกมากมาย

ดนตรีแห่งชีวิต ของ สุรพงษ์ บุนนาค

“การเปลี่ยนแปลงปฏิวัติทางการเมืองสะเทือนโลกอย่างการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ทำให้โลกดนตรีได้เปลี่ยนเข้าสู่ ยุคคลาสสิก (Classical Period ค.ศ.1750-1820) หลังจากมนต์ขลังของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จบลงด้วยเสียงกระหึ่มของประชาชนที่ทำการปฏิวัติ จากเดิมที่ราชสำนักและพิธีกรรมทางศาสนาค้ำจุนจ้างนักดนตรีความเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นทำให้ดนตรีเริ่มเดินทางเข้าสู่การบรรเลงเพื่อฟังกันในวงกว้างมากขึ้นเกิดโรงอุปรากรแสดงดนตรีเป็นอาชีพมากขึ้นและมีการแต่งเพลงเพื่อการแสดงเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย ในยุคนี้จึงเกิดนักดนตรีชื่อก้องโลกอย่าง โมซาร์ท (Mozart) ผู้เลื่องชื่อจนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้นโลกตะวันตกเริ่มหันเข้าหาการปกครองแบบประชาธิปไตยทำให้โลกดนตรีเองได้เดินทางสู่ ยุคโรแมนติก (Romantic Period ค.ศ.1820-1900) ด้วยชัยชนะของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอเมริกา ประกอบกับการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางในยุโรปขยายตัว ทำให้เกิดปัญญาชน นักคิด นักเขียน ศิลปิน จิตรกรและสามารถสร้างสรรค์งานตามเจตจำนงของตนได้มากขึ้นกว่ายุคสมัยก่อนหน้า นักดนตรีจึงคิดค้นวิธีการสร้างสรรค์งานโดยหลุดออกจากขนบเดิมๆ เข้าหาวิธีการทางดนตรีใหม่ๆ เน้นอารมณ์ เสียงความดังเบา และจังหวะที่รวดเร็ว รวมถึงมีการเล่นเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่เกิด วาทยกร (Conductor) ขึ้นมาสำหรับวงออร์เคสตรา
ยุคนี้เป็นยุคที่ทำให้ บีโธเฟน (Beethoven) ที่ทำงานมาตั้งแต่ในยุคคลาสสิกเริ่มโด่งดังมีชื่อเสียงขึ้น ร่วมด้วยนักดนตรีคนสำคัญอีกมากมายอย่าง บรามส์ (Brahms)ไชคอฟกี (Tchaikovsky) และ โชแปง (Chopin) โดยหลังจากยุคที่ประชาชนสร้างสรรค์เปล่งเสียงจากจิตใจของตนเองได้จึงพัฒนาสู่ดนตรีในศตวรรษที่ 20 ที่มีดนตรีหลากหลายแนวทางซึ่งเป็นรากฐานสำคัญกับเสียงเพลงในปัจจุบัน”
เมื่อผมค้นคว้าประวัติศาสตร์ทางดนตรี ผมกลับได้พบกับมุมมองที่แตกต่างไป ดังเช่น เมื่อบาคเสียชีวิตลง ยุคบาโรกก็หมดสิ้นไป จนกระทั่งอีกร้อยปีถัดมาที่มีคนรวบรวมผลงานของบาค และทำให้บาคกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง ส่งผลให้บาค กลายเป็นบิดาของดนตรีสากล โชแปงแม้จะถือว่าเป็นผู้มีความเป็นเลิศทางดนตรี มีนิ้วทีพลิ้วไหว มีจินตนาการที่กว้างไกล แต่จริงๆ แล้วโชแปงเป็นผู้ที่มีความรักชาติเป็นอย่างยิ่ง โชแปงสนับสนุนเงินทุนต่างๆ ไปยังบ้านเกิด เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือชาวโปแลนด์ที่ตกอยู่ในการปกครองของรัสเซีย บีโธเฟน นักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ แต่บีโธเฟนกลับถูกต่อต้านจากนักดนตรีในยุคเดียวกัน ในเรื่องความคิดทางดนตรีที่ไม่เหมือนใคร นอกจากนั้น บีโธเฟนยังเก็บปัญหาเรื่องหูหนวกไว้ เพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ จนกระทั่งเมื่อมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ จึงกล้าที่จะเปิดเผยเรื่องราวดังกล่าว
ประวัติทางดนตรีสะท้อนให้เห็นในอีกมุมมองที่เกิดขึ้น ทำให้เราสามารถเรียนรู้ความเป็นไปทางดนตรี เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและความพยายามของคีตกวีแต่ละท่านที่สร้างสรรค์ผลงานอันมีค่า ต้องฝ่าฟันความเป็นไปทางสังคม ความคิดเห็นที่แตกต่าง และปัญหาจากโรคภัยไข้เจ็บ ความพยายามของเหล่าคีตกวีจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินในยุคใหม่ๆ สร้างสรรค์ผลงานที่ดีและมีความหมายขึ้นมา

ตัวอย่างงานแสดงที่มีความคล้ายคลึงกัน
งานแสดงของรุ่นพี่ร่วมสถาบัน
เป็นงาน Recital ของพี่หงษ์ รุ่นพี่ที่เพิ่งจบการศึกษาในปีที่ผ่านมา เป็นการแสดงที่เป็นตัวเล่าเรื่องเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างของงานแสดงที่ใช้ ตัวการ์ตูน Animation ร่วมกับผู้แสดง
การแสดงของวง Gorillaz ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 ร่วมกันระหว่างนักร้องและนักวาดการ์ตูน นำเสนอการแสดงในคาแรคเตอร์การ์ตูน
